21 ธันวาคม 2567
นายจเร รุ่งฐานีย รองผู้ว่าการกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน การรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร พนักงานศูนย์บำรุงทางภาคเหนือ ฝ่ายการช่างโยธา กว่าร้อยชีวิต รวมพลังน้ำใจทำประโยชน์สู่สังคม ผ่านกิจกรรม “รวมใจชาวศูนย์เหนือเพื่อสังคม EP.3” มอบทุนการศึกษา ปรับปรุงห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติและสนามเด็กเล่น โรงเรียนบ้านท่าวะ (ราษฎร์บำรุง) ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ในการนี้ นายอรรถพล เก่าประเสริฐ รองวิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง พร้อมวิศวกรโครงการสายเหนือครบทีม นำขบวน “ปู๊น...ปู๊น หมู่เฮา” โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ร่วมออกบูธนิทรรศการประชาสัมพันธ์โครงการ เล่นเกม แจกของที่ระลึกให้แก่น้อง ๆ ได้ความรู้และสนุกสนานกันถ้วนหน้า...ปู๊น...ปู๊น   
18 ธันวาคม 2567
การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยกิจการร่วมค้าซีเคเอสที ร่วมกับสำนักงานเทศบาลตำบลห้วยซ้อ จัดกิจกรรมอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ (Big Cleaning Day) เพื่อถวายพระราชกุศลในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2567 ณ บริเวณถนนสาย 1174 ตั้งแต่สี่แยกบ้านแก่น ตำบลห้วยซ้อ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย
17 ธันวาคม 2567
การรถไฟแห่งประเทศไทย กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC และกิจการร่วมค้าไอทีดี-เนาวรัตน์ ลงพื้นที่ประชุมชี้แจงรูปแบบการก่อสร้างทางลอดใต้ทางรถไฟบริเวณ กม.555+652 ในพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลนาจักร อำเภอเมือง จังหวัดแพร่  เนื่องจากข้อจำกัดความสูงของทางลอดใต้สะพานรถไฟ จึงได้เปลี่ยนเป็นทางลอดใต้ทางรถไฟขนาด 5.50x4.00 เมตร ขนาด 2 ช่องจราจร โดยยังคงให้มีความสูงที่ลอดได้ไม่น้อยกว่า 5.00 เมตร มติที่ประชุมเห็นชอบให้ก่อสร้างตามที่เสนอ ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลนาจักร
17 ธันวาคม 2567
การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยกิจการร่วมค้าซีเคเอสที ดีซี 2  เข้าพบนายพงษ์ศักดิ์ แสนชุมภู ผู้อำนวยการโรงเรียนโรงช้างวิทยา เพื่อสนับสนุนงบประมาณที่ใช้ในการจัดการแข่งขันกีฬานักเรียน “ป่าแดดเกมส์ 2567” ในระหว่างวันที่ 23 - 27 ธันวาคม 2567 ณ สนามกีฬาโรงเรียนเทศบาล 1 ตำบลป่าแดด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนกิจกรรมของโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ก่อสร้างโครงการฯ และเป็นการสร้างสัมพันธ์ที่ดีต่อชุมชน
17 ธันวาคม 2567
การรถไฟแห่งประเทศไทย กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC และกิจการร่วมค้าซีเคเอสที ดีซี 2  ลงพื้นที่ประชุมชี้แจงเรื่องการปรับระดับทางเท้าภายในทางลอดหมายเลข 13 (Box Underpass No.13) กม.740+975.000 โดยมีผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 หมู่ 12 หมู่ 21 และ หมู่ 22 บ้านใหม่ดอยลาน พร้อมประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียง ซึ่งชาวบ้านเห็นด้วยและยินยอมให้มีการปรับระดับทางเท้าตามที่เสนอ ณ ศาลาประชาคม บ้านใหม่ดอยลาน หมู่ที่ 21 ตำบลดอยลาน อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย
13 ธันวาคม 2567
การรถไฟแห่งประเทศไทย กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC และกิจการร่วมค้าไอทีดี-เนาวรัตน์ ได้ลงพื้นที่เพื่อชี้แจงรูปแบบการก่อสร้างสะพานรถไฟบริเวณ กม.552+161 ในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลร่องกาศ ทั้งนี้ ประชาชนมีมติให้ดำเนินการก่อสร้างตามแนวทางที่นำเสนอ โดยโครงการจะก่อสร้างให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด ณ ฌาปนสถานบ้านร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่

12 ธันวาคม 2567
การรถไฟแห่งประเทศไทย กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC และกิจการร่วมค้าไอทีดี-เนาวรัตน์ ได้ลงพื้นที่ประชุมเพื่อให้ข้อมูลและข้อเสนอแนะในการจ่ายค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนบนที่ดินสาธารณประโยชน์ (นสล.) ป่าช้าแม่คำมี ตำบลแม่คำมี อำเภอหนองม่วงไข่ ร่วมกับสำนักงานจังหวัดแพร่ องค์การบริหารส่วนตำบลแม่คำมี และหมู่บ้าน เพื่อให้ทีมงานก่อสร้างสามารถเข้าพื้นที่ได้ มติที่ประชุมไม่ขัดข้อง แต่ขอให้รื้อเมรุ และองค์ประกอบเป็นรายการสุดท้าย เพื่อรอเมรุหลังใหม่ที่จะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 เดือน ทั้งนี้ ไม่ส่งผลกระทบกับงานก่อสร้าง เนื่องจากเมรุเดิมไม่ได้อยู่ในแนวเขตทาง แต่อยู่ชิดแนวรั้วการรถไฟฯ ณ ที่ว่าการอำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่
11 ธันวาคม 2567 
การรถไฟแห่งประเทศไทย กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC และกิจการร่วมค้าไอทีดี-เนาวรัตน์ ได้ลงพื้นที่ประชุมชี้แจงรูปแบบการก่อสร้างสะพานรถไฟ 4 แห่ง ได้แก่ กม.593+144 กม.594+842 กม.595+540 และ กม.596+901.5 ร่วมกับประธานสภาเทศบาล (ผู้แทนนายกเทศมนตรีตำบลห้วยหม้าย) และคณะ ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่ ณ สำนักงานเทศบาลตำบลห้วยหม้าย อำเภอสอง จังหวัดแพร่
7 ธันวาคม 2567
นายพฤตินัย เลือดนักรบ วิศวกรโครงการ (สัญญาที่ 1) และนายปัฐตพงษ์ บุญแก้ว วิศวกรโครงการ (สัญญาที่ 2) ให้การต้อนรับพร้อมคณะจากหลักสูตรเทคโนโลยีระบบขนส่งทางราง “ธัชวิทย์” วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย โดยศูนย์เทคโนโลยียานยนต์และขนส่ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ในโอกาสเข้ารับฟังการบรรยายและเยี่ยมชมพื้นที่ก่อสร้างบริเวณสะพานรถไฟ (Railway Bridge) No. 147 อ.งาว จ.ลำปาง และอุโมงค์แม่กา จังหวัดพะเยา
6 ธันวาคม 2567

การรถไฟแห่งประเทศไทย กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC และกิจการร่วมค้าไอทีดี-เนาวรัตน์ ลงพื้นที่ประชุมชี้แจงเรื่องทางเท้าภายในทางลอดใต้ทางรถไฟ (Box Underpass) กม.540+200 และ 537+500 หมู่ที่ 7 และ หมู่ที่ 5 ในพื้นที่ของเทศบาลตำบลปงป่าหวาย อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ กรณีการก่อสร้างทางเท้าบริเวณทางลอดใต้ทางรถไฟ ทำให้รถเกี่ยวนวดข้าวไม่สามารถสัญจรผ่านเข้าออก เพื่อไปเก็บเกี่ยวข้าวให้กับเกษตรกรในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวได้ เนื่องจากความกว้างของถนนลดลง

มติที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบการรื้อทางเท้าออกตามที่ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 ร้องขอ และนอกจากนี้ยังขอให้การรถไฟฯ ซ่อมแซมถนนและระบบระบายน้ำที่เสียหายจากรถบรรทุกเสาเข็ม เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตลอดจนขอให้ขุดลอกดินคันทางรถไฟที่พังทะลายลงในลำเหมือง เพื่อให้น้ำไหลสะดวกสามารถทำนาได้ช่วงนี้ ซึ่งทางโครงการฯ จะเร่งรัดดำเนินการให้ หลังจากนั้นในที่ประชุมมีกลุ่มผู้ประกอบการรถเกี่ยวข้าว ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมประชุมการมีส่วนร่วมในครั้งแรก เสนอขอให้ลดระดับถนนลอดใต้ทางลอดรถไฟลง 30-50 ซม. เพื่อเพิ่มความสูงของสะพานโค้งจาก 4.00 ม. เป็น 4.30-4.50 เมตร บริเวณพื้นที่สะพานโค้ง ที่ กม.539+685 เพื่อให้รถเกี่ยวข้าวลอดได้นั้นเนื่องจากมีข้อจำกัดที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ จะต้องมีการนัดสำรวจพื้นที่ร่วมกันอีกครั้ง

หลังจากนั้น นายกเทศมนตรีตำบลปงป่าหวายได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบบริเวณทางลอดใต้ทางรถไฟ โดยมีข้อหารือว่า การลดระดับถนนบริเวณดังกล่าว จำเป็นต้องใช้พื้นที่ออกนอกเขตรถไฟ ซึ่งมีผลกระทบต่องบประมาณ และอาจก่อให้เกิดปัญหาระบบระบายน้ำในฤดูฝน รวมทั้งต้องพิจารณาเรื่องความปลอดภัยในการสัญจร

ทั้งนี้ มติที่ประชุมขอให้ทางโครงการฯ พิจารณาออกแบบ ประมาณราคา และผลดีผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นในงานก่อสร้าง นำเสนอต่อเทศบาลฯ และนัดร่วมพิจารณากับกลุ่มผู้ประกอบการรถเกี่ยวข้าวอีกครั้ว เพื่อนำข้อมูลเสนอให้การรถไฟฯ พิจารณาต่อไป
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้