31 สิงหาคม 2566 นายปัฐตพงษ์ บุญแก้ว วิศวกรโครงการ (สัญญาที่ 2) นำเสนอความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ครั้งที่ 5/2566 โดยนายสมหวัง บุญระยอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธาน พร้อมด้วย นายกฤชเพชร เพชระบูรณิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน นายบำรุง สังข์ขาว รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุมพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ศาลากลางจังหวัดน่าน อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน
การประชุมนี้เป็นการประชุมติดตามการดำเนินงานของ กรอ. กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ได้แก่ จังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ในการนี้ สำนักงานคลังจังหวัดเชียงราย นำเสนอรายงานภาวะเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 สรุปข้อมูลภาพรวมเศรษฐกิจ ภาวะเศรษฐกิจการคลัง และประมาณการเศรษฐกิจจังหวัด ปี 2566 รายจังหวัด และการรถไฟฯ นำเสนอความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการวางยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจภายในกลุ่มจังหวัดให้เข้มแข็งทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล

24 สิงหาคม 2566 นายปัฐตพงษ์ บุญแก้ว วิศวกรโครงการ (สัญญาที่ 2) การรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นวิทยากรร่วมเสวนาในหัวข้อ “ทักษะฝีมือแรงงานเพื่อรองรับระบบโลจิสติกส์ในอนาคต” พร้อมด้วย ผู้อำนวยการท่าอากาศยานนานาชาติแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยภาคเหนือ เลขาธิการหอการค้าจังหวัดพะเยา จัดหางานจังหวัดพะเยา และผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานพะเยา ในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ทักษะฝีมือแรงงานแห่งอนาคตและการเปลี่ยนแปลงด้านโลจิสติกส์ (Future Skill & Logistics Transformation) โดยวิทยากรแต่ละท่านร่วมให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางและแนวโน้มการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ให้ข้อเสนอแนะว่านักศึกษาจบใหม่จะต้องมีทักษะอะไรบ้างในการเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน รวมทั้งการเตรียมตัวรับมือกับเทคโนโลยีใหม่ที่จะเกิดขึ้น ณ ห้องประชุมเมืองพะเยา ตึก ICT มหาวิทยาลัยพะเยา อ.เมือง จ.พะเยา มีนักศึกษาให้ความสนใจร่วมงานกว่า 100 คน

โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ 4 จังหวัด แพร่ ลำปาง พะเยา เชียงราย และพื้นที่ใกล้เคียง ได้เข้ามาร่วมกันสร้างความสำเร็จในหลากหลายตำแหน่ง จำนวนกว่า 300 คน และยังคงมีการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมกันสร้างพลังขับเคลื่อนโครงการให้ประสบความสำเร็จ และพัฒนาบ้านเกิดให้มีความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป ซึ่งการจ้างงานในพื้นที่จะช่วยลดช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างเมืองและชนบท ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ลดปัญหาการกระจุกตัวแรงงานในเมืองอุตสาหกรรม ทำให้แรงงานที่มีฝีมือกระจายไปยังพื้นที่รอบนอกให้มีโอกาสได้รับการพัฒนาทุกด้านอย่างเท่าเทียม

22 - 23 สิงหาคม 2566 กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาฯ และกิจการร่วมค้าไอทีดี-เนาวรัตน์ ผู้รับจ้างก่อสร้างสัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว จัดกิจกรรมอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างาน เพื่อฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างาน ให้เป็นไปตามข้อกำหนดกฎหมายของกระทรวงแรงงาน และพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 โดยสถิติชั่วโมงการทำงานของสัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ณ ปัจจุบัน 1,193,472 ชั่วโมงการทำงาน ไม่มีอุบัติเหตุถึงขั้นหยุดงาน
24 สิงหาคม 2566 การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC และกิจการร่วมค้าไอทีดี-เนาวรัตน์ ทำสัญญาเพื่อรับค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืน กรณีที่ดินที่ไม่มีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน (ทค.) อำเภอสูงเม่น อำเภอเด่นชัย และอำเภอเมืองแพร่ จำนวนทั้งหมด 12 ราย 18 แปลง ณ สำนักงานโครงการอำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่
22 - 23 สิงหาคม 2566 สำนักงบประมาณ นำโดยนายพลากร ม่วงพันธุ์ ผู้อำนวยการกองจัดทำงบประมาณด้านเศรษฐกิจ 4 และกองงบประมาณและวางแผนการเงิน การรถไฟแห่งประเทศไทย นำโดยนางลัดดา ละออกุล ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินและการบัญชี พร้อมคณะติดตาม ลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย ระหว่างวันที่ 22 – 23 สิงหาคม 2566 เพื่อประชุมและพินิจงานโครงการก่อสร้างรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ในการนี้ นายธีระ รุ่งโรจน์สุวรรณ วิศวกรโครงการ (สัญญาที่  3)  นายพฤตินัย เลือดนักรบ วิศวกรโครงการ (สัญญาที่ 1) นายปัฐตพงษ์ บุญแก้ว วิศวกรโครงการ (สัญญาที่ 2) กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC กิจการร่วมค้าไอทีดี-เนาวรัตน์ กิจการร่วมค้าซีเคเอสที-ดีซี 2 และกิจการร่วมค้าซีเคเอสที-ดีซี 3 ให้การต้อนรับและร่วมประชุมชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรคและแนวทางแก้ไข เพื่อให้การเบิกจ่ายงบประมาณเป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง และเพื่อประกอบการพิจารณางบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ณ ห้องประชุมสำนักงานสนาม อ.เวียงชัย จ.เชียงราย หลังจากนั้น ได้เยี่ยมชมพื้นที่ก่อสร้างอุโมงค์แม่กา บริเวณงานรื้อย้ายเสาไฟฟ้า จ.พะเยา และศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าในพื้นที่ของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) อ.เชียงของ จ.เชียงราย
16 สิงหาคม 2566 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ร่วมกับกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติส่วนภูมิภาค ประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 16-18 สิงหาคม 2566 ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เพื่อเป็นการส่งเสริม เผยแพร่ทักษะ และพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์แก่นักเรียน นักศึกษา คณาจารย์ และประชาชนทั่วไป ทั้งในเขตจังหวัดเชียงราย รวมถึงเขตจังหวัดภาคเหนือตอนบน

นายปัฐตพงษ์ บุญแก้ว วิศวกรโครงการ (สัญญาที่ 2) การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ร่วมพิธีเปิดงานฯ โดยประธานในพิธี ศ.ดร.สุจิตรา วงศ์เกษมจิตต์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงกล่าวเปิดงาน และปลูกต้นราชพฤกษ์อวกาศ ซึ่งเป็นโครงการศึกษาเรียนรู้ใหม่ด้านวิทยาศาสตร์สำหรับผู้ที่สนใจโดยเฉพาะเยาวชน นอกจากนี้ การรถไฟฯ ได้จัดกิจกรรม “ปู๊น...ปู๊น หมู่เฮา” เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ผ่านนิทรรศการและกิจกรรมเกมลุ้นของที่ระลึกโครงการ ได้ทั้งความรู้และของรางวัลติดไม้ติดมือกันถ้วนหน้า มีนักเรียน นักศึกษาและผู้สนใจมาร่วมงานกว่า 10,000 คน
16 สิงหาคม 2566 นายปัฐตพงษ์ บุญแก้ว วิศวกรโครงการ (สัญญาที่ 2) การรถไฟแห่งประเทศไทย นำเสนอความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ในการประชุมคณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกจังหวัดเชียงราย ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องประชุมพญาพิภักดิ์ ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย โดยนางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดเชียงราย เป็นประธาน พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้นำเสนอความคืบหน้าการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กรมการขนส่งทางบก สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงราย สถานีตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย ที่ประชุมได้ให้ข้อเสนอแนะและสอบถามการรถไฟฯ ในประเด็นเรื่องของฝุ่น PM 2.5 การจ้างงานในพื้นที่ ที่ตั้งย่านกองเก็บสินค้า และการวางและจัดทำผังเมืองให้การคมนาคมขนส่งทุกรูปแบบมีความสอดคล้องต่อเชื่อมกัน ซึ่งจะได้มีการประชุมรายละเอียดในแต่ละประเด็นต่อไป
10 สิงหาคม 2566 การรถไฟแห่งประเทศไทย กลุ่มบริษัท CSDCC กิจการร่วมค้า ซีเคเอสที-ดีซี2 และแขกผู้มีเกียรติ ร่วมทำพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยอาจารย์ชาญนพเดช แสนเงิน บริเวณปากอุโมงค์แม่กา จังหวัดพะเยา (ด้านทิศใต้) เพื่อความเป็นสิริมงคล ให้งานราบรื่นและประสบผลสำเร็จ
 
อุโมงค์แม่กาด้านทิศใต้มีลักษณะเป็นอุโมงค์หินผุลึกประมาณ 500 เมตร จึงใช้วิธีขุดเจาะอุโมงค์แบบเจาะระเบิด (Drill and Blast) ปัจจุบัน สามารถขุดเจาะ ฝั่งขาขึ้น 40 เมตร และฝั่งขาล่อง 15 เมตร คาดว่าจะใช้เวลา 50 เดือน จึงแล้วเสร็จ  

10 สิงหาคม 2566 มหาวิทยาลัยพะเยาได้มีหนังสือเชิญการรถไฟแห่งประเทศไทยทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการร่วมกัน เรื่อง การพัฒนาเทคโนโลยีขนส่งทางรางและ
โลจิสติกส์ รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางและโลจิสติกส์ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย สำหรับการผลิตและพัฒนาบุคลากร การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งทางรางและ
โลจิสติกส์ เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางและโลจิสติกส์ของประเทศไทย 
 
ในครั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย นำโดย นายอรรถพล เก่าประเสริฐ รองวิศวกรใหญ่ด้านก่อสร้าง นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ และนายปัฐตพงษ์ บุญแก้ว วิศวกรโครงการ (สัญญาที่ 2) ได้ร่วมประชุมหารือก่อนลงนามบันทึกข้อตกลงฯ กับมหาวิทยาลัยพะเยา นำโดย ศ.ดร.เสมอ ถาน้อย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม ผศ.ดร.ดำรงค์ อมรเดชาพล และ ผศ.ดร.ปุริมพัฒน์ สัทธรรมนุวงศ์ ศูนย์เทคโนโลยียานยนต์และขนส่ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยพะเยา ได้นำเสนอความพร้อมด้านระบบขนส่งทางรางและโลจิสติกส์ การพัฒนาหลักสูตรด้านวิศวกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ ศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง รวมถึงโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ โครงการ “ธัชวิทย์” ผลิตบุคลากรที่มีความสามารถตามที่หน่วยงานต้องการ พร้อมทำงานได้ทันที และรายละเอียดของร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการฯ ซึ่งการรถไฟฯ จะนำไปพิจารณาก่อนที่จะมีการลงนามต่อไป

9 สิงหาคม 2566 การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC และกิจการร่วมค้าไอทีดี-เนาวรัตน์ ทำความตกลงสิทธิและทำสัญญาเพื่อรับค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืน โครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.)  กับประชาชนที่ถือครองที่ดินบริเวณบ้านห้วยหม้าย ต.ห้วยหม้าย อ.สอง จ.แพร่ จำนวน 14 ราย 16 แปลง ณ ชุมชนบ้านหนุนเหนือ ต.บ้านหนุน อ.สอง จ.แพร่  หลังจากนี้ จะได้เตรียมดำเนินการเพื่อทำสัญญาฯ ในพื้นที่แม่ตีบ อ.งาว จ.ลำปาง ต่อไป

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้