29 มีนาคม 2566 นายปัฐตพงษ์ บุญแก้ว วิศวกรโครงการ (สัญญาที่ 2) การรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้แทนกลุ่มบริษัท CSDCC ผู้แทนกิจการร่วมค้า ซีเคเอสที-ดีซี และแขกผู้มีเกียรติ ร่วมทำพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์บริเวณก่อสร้างอุโมงค์ดอยหลวง โดย ร.ต.นนทฤทธิ์ ศโรภาส เพื่อความเป็นสิริมงคล ช่วยให้งานราบรื่นและประสบผลสำเร็จต่อไป
8 เมษายน 2566 การรถไฟแห่งประเทศไทย กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CSDCC และกิจการร่วมค้าไอทีดี-เนาวรัตน์ จัดกิจกรรมปู๊น...ปู๊น หมู่เฮา ร่วมสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นชุมชนสบสาย ณ วัดสบสาย อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ โดยประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลโครงการ ออกบูธนิทรรศการ และร่วมสนุกแจกของรางวัลให้ผู้มาร่วมงาน ซึ่งได้รับความสนใจร่วมกิจกรรมเป็นอย่างมาก พร้อมนี้ ประชาชนได้ร่วมบริจาคเงินตามกำลังศรัทธา จำนวน 4,003.25 บาท มอบให้กับวัดสบสายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว งานนี้อิ่มอกอิ่มใจอิ่มบุญกันถ้วนหน้า
24 มีนาคม 2566 นายพฤตินัย เลือดนักรบ วิศวกรโครงการ (สัญญาที่ 1) ร่วมกับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จังหวัดแพร่ โดยนางจันนิภา ศรีชัยวาลย์ ปฏิรูปที่ดินจังหวัดแพร่ ร่วมทำสัญญารับค่าทดแทนและสละสิทธิ์สำหรับผู้เสียสิทธิที่ดินทำกินในเขต ส.ป.ก. จำนวน 22 ราย นับเป็นกลุ่มแรกของจังหวัดแพร่ ณ สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดแพร่ ทั้งนี้ รฟท.จะดำเนินการเร่งรัดในส่วนที่เหลือ เพื่อให้ผู้รับจ้างก่อสร้างสามารถเข้าพื้นที่โดยเร็ว
28 มีนาคม 2566 นายปัฐตพงษ์ บุญแก้ว วิศวกรโครงการ (สัญญาที่ 2) การรถไฟแห่งประเทศไทย คณาจารย์มหาวิทยาลัยพะเยา และคณะที่ปรึกษาโครงการฯ นำเสนอความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ต่อคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) จังหวัดเชียงราย โดยมี นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมฯ พร้อมด้วย คณะทำงานบริหารจัดการและขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดเชียงราย นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 15 เชียงราย สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 เชียงราย สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 15 เชียงราย ณ ห้องประชุมจอมกิตติ ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย โดยคณะกรรมการฯ ได้รับทราบ และแสดงความสนใจขอเข้าเยี่ยมชมพื้นที่ก่อสร้างในโอกาสต่อไป
 
  
4 มีนาคม 2566 นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธีทำบุญสำนักงานสนาม สถานีเชียงราย และเข้าร่วมประชุมรับฟังข้อมูลโครงการรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจากส่วนราชการจังหวัดเชียงราย ทีมวิศวกรการรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้แทนกลุ่มบริษัท CSDCC ผู้แทนกิจการร่วมค้า CKST-DC และแขกผู้มีเกียรติ ในส่วนพิธีสงฆ์ พระครูบาเจษฎา จิรสีโล และพระครูบาเจ้าน้อย วัดห้วยสัก จังหวัดเชียงราย เจริญพระพุทธมนต์ ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ และเจิมป้ายสำนักงานโครงการ เพื่อความเป็นสิริมงคล หลังจากนั้น ทีมนายช่างสายเหนือ นำโดยนายธีระ รุ่งโรจน์สุวรรณ นายพฤตินัย เลือดนักรบ และนายปัฐตพงษ์ บุญแก้ว ได้ร่วมกันนำเสนอข้อมูลด้านกายภาพของโครงการ ความก้าวหน้าการดำเนินงาน การออกแบบสถานีและปากทางเข้าอุโมงค์ การออกแบบโดยคำนึงถึงอารยสถาปัตย์ การมีส่วนร่วมกับประชาชน สถาบันการศึกษา และศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ ซึ่งท่านผู้ว่าฯ ได้ฝากประเด็นในเรื่องของการประสานงานระหว่างหน่วยงานราชการ ความชัดเจนรูปแบบของศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ แนวคิดการออกแบบสถานีให้สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ของจังหวัด การออกแบบเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงโดยถ้วนหน้า พร้อมทั้งเห็นด้วยกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยรถไฟ และชื่นชมคนรถไฟที่ผลักดันโครงการรถไฟสายล้านนาตะวันออกใกล้ประสบความสำเร็จ หลังจากนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทยจะเดินหน้าประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้โครงการก้าวสู่ความสำเร็จขั้นต่อไป...
28 กุมภาพันธ์ 2566 นายสุจิตต์ เชาวน์ศิริกุล ประธานกรรมการตรวจรับการจ้างงานบริการที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ พร้อมด้วยคณะกรรมการฯ ทีมวิศวกรฯ สายเหนือ ผู้แทนกลุ่มบริษัท CSDCC ผู้แทนกิจการร่วมค้า ซีเคเอสที-ดีซี ได้เข้าตรวจเยี่ยมพื้นที่ก่อสร้างบริเวณปากอุโมงค์แม่กา จังหวัดพะเยา และประชุมตรวจรับฯ ครั้งที่ 1 ณ ห้องประชุมสำนักงานสนามฯ อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย คณะกรรมการฯ มีมติรับงานครั้งนี้ แต่มีข้อเสนอแนะให้ที่ปรึกษาฯ ได้ปรับปรุงการดำเนินงานทั้งด้านบุคลากร ความปลอดภัย งานเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ เพื่อให้บรรลุตามแผนการดำเนินงาน ไม่เกิดความล่าช้าในการก่อสร้าง และไม่กระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่
2 มีนาคม 2566 นพกังสดาลภาวนา : หนึ่งในโปรเจกต์ที่เสริมสร้างคุณค่าในเส้นทาง และเพื่อให้มีคุณค่ายิ่งขึ้นไป รฟท. ได้เปิดโอกาสให้น้องๆ นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา เข้าร่วมแข่งขันในการออกแบบ นายช่างปัฐตพงษ์ บุญแก้ว วิศวกรโครงการก่อสร้างรถไฟเส้นทางประวัติศาสตร์สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ นำเสนอแนวคิดสำคัญของการออกแบบหน้าปากอุโมงค์ โดยได้รับเกียรติจากรองศาสตราจารย์ จันทนี เพชรานนท์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และคณาจารย์ เข้าร่วมรับฟัง ภายใต้แนวคิด “สายทางที่เป็นของทุกคน” เสริมสร้างความหวงแหน เเละความภาคภูมิใจผ่านการมีส่วนร่วมในโครงการ โดยให้น้องๆ ปล่อยไอเดีย เสนอผลงานอย่างเต็มที่ ผู้ชนะจะได้รับการสลักชื่อเป็นผู้ออกแบบ บนแผ่นทองเหลืองที่อุโมงค์ทั้ง 4 แห่ง มาร่วมให้กำลังใจและติดตามผลงานของน้องๆ กันนะคะ…”เราจะเป็นสายทางแห่งเป็นความภูมิใจของล้านนาตะวันออก”...ฝากเนื้อฝากตัวโตยเน้อเจ้า แล้วเราจะโตไปด้วยกัน
เครดิตภาพ: นายกิตติศักดิ์ บัวเรียง สาขาการสื่อสารสื่อใหม่ มหาวิทยาลัยพะเยา
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้